พุทธศาสนสุภาษิต

                                                       ขณิกสมาธิ

…..ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิชั่วขณะ คือสมาธิที่เป็นไปชั่วคราว
…..ขณิกสมาธิ หมายถึงภาวะที่จิตสงบระงับได้ชั่วคราว จัดเป็นสมาธิขึ้นต้นอันเกิดจากการปฏิบัติกรรมฐานที่ทำให้เกิดความสุขสบายได้ ชั่วครู่ และเป็นเหตุให้ควบคุมสติอารมณ์ได้ในขณะประกอบกิจหรือศึกษาเล่าเรียน ทำให้ใจเย็นระงับอารมณ์ได้
…..ขณิกสมาธิ เป็นพื้นฐานให้บำเพ็ญกรรมฐานและได้สมาธิที่สูงขึ้นไปคืออุปจารสมาธิและอัปปนา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก kalyanamitra.org


พระพุทธศาสนสุภาษิต:อนาจาร

อนาจาร
             อนาจาร คือ ความประพฤติผิด ความประพฤติชั่ว ความประพฤติไม่เหมาะสม
อนาจาร ในคำวัด หมายถึง ความประพฤติทางกายและทางวาจาที่ไม่สมควรแก่บรรพชิตเป็นความประพฤติที่ไม่ควร ทำ ไม่ควรมี มิใช่ความประพฤติของบรรพชิต เป็น อุปปถกิริยา คือความประพฤตินอกรีดนอกรอย เป็นความประพฤติต้องห้ามสำหรับบรรพชิต เพราะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมศรัทธา
อนาจาร ได้แก่ การเล่นสนุกต่างๆ เช่น เล่นแบบเด็กๆ เล่นของเล็กๆ การร้อยพวงมาลัยเล่น การเรียนดิรัจฉานวิชา เช่น ทายเลข ทำเสน่ห์ เป็นต้น


ขอบคุณข้อมูลจากkalyanamitra.org


พระพุทธศาสนสุภาษิต:อภัพบุคคล

อภัพบุคคล   
             อภัพบุคคล แปลว่า คนไม่สมควร คนไม่เหมาะสม คำไทยใช้ว่า คนอาภัพ
อภัพบุคคล หมายถึง คนที่ไม่อาจบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ คนที่ขาดคุณสมบัติไม่อาจบรรพชาอุปสมบทได้ คนที่ไม่เหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์เหมือนที่คนอื่นได้รับ
อภัพบุคคล ในพระวินัยหมายถึงคนที่ถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาด ๓ ประเภท คือ
๑. คนมีเพศบกพร่อง ได้แก่ บัณเฑาะก์ (ขันที กะเทย) คนมีสองเพศ
๒. คนประพฤติผิดพระธรรมวินัย ได้แก่ คนฆ่าพระอรหันต์ คนทำร้ายพระพุทธเจ้า คนทำสังฆเภท คนลักเพศ เป็นต้น
๓. คนประพฤติผิดต่อกำเนิดของตน ได้แก่ คนฆ่าบิดา คนฆ่ามารดา

ขอบคุณข้อมูลจากkalyanamitra.org


พระพุทธศาสนสุภาษิต:อกุศลมูล

                           อกุศลมูล แปลว่า รากเหง้าของอกุศลต้นเหตุของอกุศล, ที่เกิดของอกุศล
……อกุศลมูล หมายถึง ต้นเหตุหรือสาเหตุให้ทำบาปอกุศลหรือความชั่วต่างๆ มี ๓ อย่าง คือ
…..1. โลภะ คือความโลภ เป็นต้นเหตุให้เกิดการลักขโมย การปล้น การหลอกลวง การฉ้อโกง เป็นต้น
…..2. โทสะ คือความคิดร้าย เป็นต้นเหตุให้เกิดการล้างผลาญกัน การฆ่าฟัน การทะเลาะวิวาท การพูดจาหยาบคาย เป็นต้น
…..3. โมหะ คือความหลง เป็นต้นเหตุให้เกิดความถือตัวถือตน ความอกตัญญู ความริษยาความดื้อร้น เป็นต้น
…..อกุศลมูล มีแหล่งกำเนิดมาจากต้นเหตุอื่นอีก คือ โลภะมาจากตัณหา โทสะมาจากมานะ โมหะมาจากทิฐิ

ขอขอบคุณข้อมูลจากkalyanamitra.org


พระพุทธศาสนสุภาษิต:”สมาธิ ” กับ “หนทางสายกลาง” เกี่ยวพันกันอย่างไร

“สมาธิ ” กับ “หนทางสายกลาง” เกี่ยวพันกันอย่างไร

           ทางสายกลาง หรือ มัชฌิมมรรค เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทุกคนต้องเคยได้ยิน รู้จัก และเข้าใจ ไปตามสภาพของความใกล้ชิด ความสนใจที่ตนมีต่อพระพุทธศาสนา “มัชฌิมมรรค” หรือ “ทางสายกลาง” เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นหนทางแห่งการเข้าถึงธรรม การตรัสรู้ธรรม เป็นหนทางที่เชื่อมต่อมนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพานเข้าไว้ด้วยกันด้วยวิถีของใจหนทางสายกลางนี้ ในสมัยต้นๆ มักถูกเรียกว่า “เอกายนมรรค” คือ หนทางสายเอก หรือหนทางสายเดียว แปลไทยเป็นไทยให้เข้าใจมากขึ้น คือ เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นในอันที่จะนำพาผู้คนไปสู่สวรรค์และนิพพานได้ ด้วยการปฏิบัติสมาธิฝึกใจ เดินใจเข้าไปในหนทางสายกลาง เริ่มต้น หรือ ตั้งต้นที่จุดศูนย์กลางกายของตน ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ทุกคนสามารถเชื่อมต่อตนเองกับสวรรค์และนิพพานได้ด้วย การวางใจ หยุดใจไว้ที่จุดศูนย์กลางกายของตน เพราะ ณ ศูนย์กลางกายของตนนั่นแหละ คือปากประตูที่พร้อมเปิดเข้าสู่หนทางสายกลาง
หนทางสายกลางเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกาย แต่การดำเนินใจ หรือพาใจที่มีปกติวิ่งว่ายไม่หยุดนิ่ง ชอบอยู่แต่ภายนอก ไม่ชอบอยู่ภายใน คือ ธรรมชาติของใจมักเคลื่อนไป วิ่งไปเลื่อนลอยไปกับสิ่งต่างๆ กับเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว ใจจึงไม่อยู่กับตัว ชอบเล่นหัวไปเรื่อยตามเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา

ขอขอบคุณข้อมูลจากdhammakaya.net


พระพุทธศาสนสุภาษิต:ประโยชน์การฝึกสมาธิ

ประโยชน์การฝึกสมาธิ
         “สมาธิ” ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์เฉพาะผู้ที่ฝึกเป็นประจำเท่านั้น ยังส่งผลทางบวกไปยังบุคคลรอบตัว สังคม ชุมชน ประเทศชาติ ตลอดจนเป็นการสืบสาน ต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกด้วย สมาธิ จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการผ่อนคลายในเบื้องต้น แต่ยังส่งผลให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าถึงความสุขอันเกษม คือพระนิพพานอีกด้วย

1. ผลต่อตนเอง
1.1 ด้านสุขภาพจิต
        - ส่งเสริมให้คุณภาพของใจดีขึ้น คือ ทำให้จิตใจผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ สงบ เยือกเย็น ปลอดปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความจำ และสติปัญญาดีขึ้น
        - ส่งเสริมสมรรถภาพทางใจ ทำให้คิดอะไรได้รวดเร็ว ถูกต้อง และเลือกคิดแต่ในสิ่งที่ดีเท่านั้น
1.2 ด้านพัฒนาบุคลิกภาพ
       - จะเป็นผู้มีบุคลิกภาพดี กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า มีความองอาจสง่าผ่าเผย ผิวพรรณผ่องใส
        - มีความมั่นคงทางอารมณ์ หนักแน่น เยือกเย็น และเชื่อมั่นในตนเอง
        - มีมนุษยสัมพันธ์ดี วางตัวได้เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นผู้มีเสน่ห์ เพราะไม่มักโกรธ มีความเมตตากรุณาต่อบุคคลทั่วไป
1.3 ด้านชีวิตประจำวัน
        - ช่วยให้คลายเครียด เป็นเครื่องเสริมประสิทธิภาพในการทำงาน และการศึกษาเล่าเรียน
        - ช่วยเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง เพราะร่างกายกับจิตใจ ย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ย่อมเป็นภูมิต้านทานโรคไปในตัว
1.4 ด้านศีลธรรมจรรยา
        - ย่อมเป็นผู้มีสัมมาทิฐิ สามารถคุ้มครองตนให้พ้นจากความชั่วทั้งหลายได้ เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี เนื่องจากจิตใจดี ทำให้ร่างกายประพฤติทางกายและวาจาดีตามไปด้วย
        - ย่อมเป็นผู้ที่มีความมักน้อย สันโดษ รักสงบ และมีขันติเป็นเลิศ
        - ย่อมเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ย่อมเป็นผู้มีสัมมาคารวะและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน


2. ผลต่อครอบครัว
2.1 ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข เพราะสมาชิกในครอบครัวเห็นประโยชน์ของการประพฤติธรรม ทุกคนตั้งมั่นอยู่ในศีล ปกครองกันด้วยธรรม เด็กเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เมตตาเด็ก ทุกคนมีความรักใคร่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
2.2 ทำให้ครอบครัวมีความเจริญก้าวหน้า เพราะสมาชิกต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยไม่บกพร่อง เป็นผู้ที่มีใจคอหนักแน่น เมื่อมีปัญหาครอบครัวหรือมีอุปสรรคอันใด ย่อมร่วมใจกันแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไปได้


3. ผลต่อสังคมและประเทศชาติ
3.1 ทำให้สังคมสงบสุข ปราศจากปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมอื่นๆ เพราะปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการฆ่า การข่มขืน โจรผู้ร้าย การทุจริตคอรัปชั่น ล้วนเกิดขึ้นมาจากคนที่ขาดคุณธรรม เป็นผู้ที่มีจิตใจอ่อนแอหวั่นไหวต่ออำนาจสิ่งยั่วยวนหรือกิเลสได้ง่าย ผู้ที่ฝึกสมาธิย่อมมีจิตใจเข้มแข็ง มีคุณธรรมในใจสูง ถ้าแต่ละคนในสังคมต่างฝึกฝนอบรมใจของตนให้หนักแน่น มั่นคง ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมสงบสุขได้
3.2 ทำให้เกิดความมีระเบียบวินัย และเกิดความประหยัด ผู้ที่ฝึกใจให้ดีงามด้วยการทำสมาธิอยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้รักความมีระเบียบวินัย รักความสะอาด มีความเคารพกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้นบ้านเมืองเราก็จะสะอาดน่าอยู่ ไม่มีคนมักง่ายทิ้งขยะบนพื้นถนน จะข้ามถนน ก็เฉพาะตรงทางข้าม เป็นต้น เป็นเหตุให้ประเทศชาติไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณ เวลา และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่จะไปใช้สำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีระเบียบวินัยของประชาชน
3.3 ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า เมื่อสมาชิกในสังคม มีสุขภาพจิตดี รักความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง ย่อมส่งผลให้สังคมเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย และเมื่อมีกิจกรรมส่วนรวม สมาชิกในสังคมก็ย่อมพร้อมที่จะสละความสุขส่วนตน ให้ความร่วมมือกับส่วนรวมอย่างเต็มที่ และถ้ามีผู้ไม่ประสงค์ดีต่อสังคม จะมายุแหย่ให้เกิดความแตกแยกก็จะไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะสมาชิกในสังคมเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่น มีเหตุผลและเป็นผู้รักสงบ


4. ผลต่อศาสนา
4.1 ทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้อง และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพระพุทธศาสนา รวมทั้งรู้เห็นด้วยตัวเองว่ามีการฝึกสมาธิไม่ใช่เรื่องเหลวไหล หากแต่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้พ้นทุกข์เข้าสู่นิพพานได้
4.2 ทำให้เกิดศรัทธาตั้งมั่นในพระรัตนตรัย พร้อมที่จะเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระศาสนา อันเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่การปฏิบัติธรรม ที่ถูกต้องให้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง
4.3 เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป เพราะตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังสนใจปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น
4.4 จะเป็นกำลังส่งเสริมทะนุบำรุงศาสนา โดยเมื่อเข้าใจซาบซื้งถึงประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมด้วยตนเองแล้ว ย่อมจะชักชวนผู้อื่นให้ทำทานรักษาศีล เจริญภาวนาตามไปด้วย และเมื่อใดที่ทุกคนในสังคมตั้งใจปฏิบัติธรรมทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อนั้นย่อมเป็นที่หวังได้ว่าเป็นสันติสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นอย่าง แน่นอน



ขอบคุณข้อมูลจากdhammakaya.net

                         

   พระพุทธศาสนสุภาษิต:สมาธิคืออะไร 

“สมาธิ” บทปฏิบัติและความเกี่ยวเนื่อง
        “สมาธิ” คือความเฉพาะตนที่น่าภาคภูมิใจของประชาชนชาวพุทธ หรือพุทธศาสนิกชน ดังเป็นที่ทราบ และยอมรับกันทั่วโลกว่า สมาธิที่แท้จริง ที่มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมานับพันปีนี้ มีต้นกำเนิดจากพระพุทธศาสนา และเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่ทำให้ผู้คนในซีกโลกตะวันออก หรือ The Oriental World สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างมีความสุขบนความพอเพียงที่มีความพอดี ความพอใจของใจเป็นพื้นฐาน ท่ามกลางความผันผวนแปรปรวนของการเมืองโลก ที่เนื่องมาจากอำนาจ และอิทธิพลทางการทหาร การเทคโนโลยีของซีกโลกตะวันตก ที่โดยส่วนมากมักเป็นตัวการยังความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง แก่วัฒนธรรมความเป็นอยู่ดั้งเดิม ของผู้คนในซีกโลกตะวันออก ที่จำเริญสืบเนื่องมานานกว่าสอง-สาม พันปี ด้วยวัฒนธรรม อารยธรรม ที่ว่าด้วยความเคารพ ความกตัญญูและความสุขที่ใจ ตลอดจนความเข้าใจในต้นเหตุแห่งความทุกข์ยาก การเวียนว่ายตายเกิด ตลอดจนที่มาของภัยธรรมชาตินานาประการว่า “ทุกอย่าง ล้วนเกิดจากใจ ความสุข หรือ ทุกข์ภัย ทั้งหลายมีต้นกำเนิดจากการกระทำของตน ทั้งที่จำได้ จำไม่ได้ ทั้งที่เคยทำมาแล้วในอดีต ในปัจจุบัน”
“สมาธิ” คือ กระบวนเพื่ออบรมบ่มใจให้ดำรงอยู่ในสภาวะอันสงบ สุกใส กว้างใหญ่ เบาสบาย เพื่อให้กลายเป็น “ความงาม” ของ ใจ ค่อยๆ ปฏิบัติ ค่อยๆ ทำกันไปวันละเล็กละน้อย เพราะใจคือสิ่งที่ถูกใช้สอยหนักที่สุดกว่าส่วนใดๆ ของร่างกาย การทำสมาธิจึงเป็นการ “พัก” ใจที่มักเหนื่อยล้ากว่าร่างกาย ให้กลับสดชื่นขึ้นได้ เพื่อชั่วโมงใหม่ เพื่อวันใหม่ที่ดีกว่า
“สมาธิ” จึงเป็นเรื่องจำเป็น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เป็นกิจที่บรรพชนของเรา ถือเป็นความสำคัญที่ต้องปฏิบัติไม่ให้ขาดแม้สักวันเดียว เพราะสมาธิเป็นต้นเหตุของใจอันงาม และใจอันงามเป็นทางมาของบุญกุศล เป็นที่อยู่ของศิริมงคล ทำให้ผู้เป็นเจ้าของใจมีชีวิตที่ดีวันดีคืน “สมาธิ จึงเป็นสิ่งพึงปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน ตลอดจนบุคคลผู้ปรารถนาความงาม ความสำเร็จในชีวิต”

ขอบคุณข้อมูลจาก  dhammakaya.net

                  

 พระพุทธศาสนสุภาษิต:การทำบุญ 10 แบบ

การทำบุญ 10 แบบ

          การทำบุญในปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่จะคิดกันแต่เพียงว่า เป็นการให้เงิน ซื้อของให้ หรือการให้ของกินของใช้ฯลฯ เพื่อหวังผลในภายภาคหน้า (ชีวิตหลังความตาย )  การเข้าใจเพียงนั้นเป็นเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น เพราะ จุดประสงค์ของทาน หรือการทำบุญโดยการสละเงิน หรือสิ่งของ ออกจากเรา ก็เพื่อลดอัตตา หรือความเป็นเราออกไป  มิใช่ทำบุญเพื่อสะสมแต้ม ยิ่งทำมากก็สะสมได้มาก ยิ่งบริจาคมาก ก็ได้บุญมาก ฯลฯ
ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องของบุญ เราจะพบว่าการทำบุญนั้น มิได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องของการทำทานเพียงอย่างเดียว คนจน หรือ คนรวย ก็สามารถทำบุญได้ทั้งนั้น

การทำบุญที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสมี 10 แบบ หรือเรียกว่า”บุญกิริยาวัตถุ” มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. “ทานมัย”    -   การทำบุญด้วยการให้เงิน สิ่งของ ความรู้ และหรือ การให้อภัยทาน
๒. “สีลมัย”      -    การทำบุญด้วยการรักษาศีล มีความประพฤติดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ
๓. “ภาวนามัย”  -   การทำบุญด้วยการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมาธิภาวนา
๔. “อปจายนมัย” -  การประพฤติตนอ่อนน้อม
๕. “เวยยาวัจจมัย” -  การช่วยเหลือ ขวนขวาย รับใช้
๖. “ปัตติทานมัย”   - การเฉลี่ยความดีให้แก่ผู้อื่น เช่น การบอกบุญ
๗. “ปัตตานุโมทนามัย” -  การแสดงความยินดีเมื่อได้ทราบว่า ผู้อื่นกระทำความดี หรือการอนุโมทนา
๘. “ธัมมัสสวนมัย”    - การฟังธรรม
๙. “ธัมมเทสนามัย”  - การสั่งสอนธรรม,เผยแพร่ธรรมะ
๑๐. “ทิฏฐุขุกัมม์”    -  การทำความเห็นให้ตรง ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

บุญกิริยาทั้งสิบประการดังกล่าวอาจจัดรวมเป็น ๓ กลุ่มใหญ่คือ ทานมัย สีลมัย และ ภาวนามัย


ขอบขอบคุณข้อมูลจาก tumtarn.igetweb.com

                   

 พระพุทธศาสนสุภาษิต:6 วิธีสร้างสมาธิ

6 วิธีสร้างสมาธิ     
       
          พลังสมาธิมีบทบาทช่วยบำบัดโรค มีข้อพิสูจน์มากมาย ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี มีสรรพวิธีประการต่างๆ ที่ช่วยให้คนเราเกิดสมาธิได้ดีขึ้น ถ้าเลือกใช้วิธีให้เหมาะสมกับตน พระ ดร.สิงห์ทน นราสโภ ได้แนะนำทางเลือกที่ช่วยให้เกิดสมาธิไว้ดังนี้ :
         “คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสมาธิเป็นวิธีที่ทำได้ยาก ต้องเป็นผู้ที่ต้องปลงแล้วเท่านั้นจึงจะทำได้ แต่ความจริงคนเราแต่ละคนก็ตามล้วนต้องมีสมาธิ แม้แต่การทำอะไร จะคิดอะไร ก็ต้องมีสมาธิ จึงจะไม่มีผิดพลาด การจะมีสุขภาพดีก็ต้องมีสติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นพระสูตรในการรักษาโรค เช่น โพชฌงค์เจ็ด ก็เริ่มด้วยสติ ซึ่งก็คือสติปัฏฐานสี่ มีบทสรุปที่สำคัญว่า “ไม่ยึดติดไม่แต่นิดเดียวว่า มีตัวของเราหรือมีตัวตน” ซึ่งต่างกับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อในความเป็นอัตตาตัวตน พระองค์ได้มาตรัสในอนัตตลักขณสูตร ได้บอกว่า ไม่มีอัตตา มีแต่ขันธ์ อายตนะ ดังนั้น ถ้าใครก็ตามสามารถทำลายอัตตา ทำลายตัวตน กิเลสก็ไม่มีที่อาศัย โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มีที่อาศัยเช่นเดียวกัน คนเราที่ทุกข์ก็เพราะมีอัตตาสูง เมื่อมีตัวเราของเราสูง ก็ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะเข้าใจว่ามันเป็นตัวเรา เป็นของเรา ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสสอนว่า ต้องทำให้เป็นสติปัฏฐาน เป็นกาย เวทนา จิต และธัมมานุปัสสนา”
         ตรงนี้ละครับ ถ้าได้ตีความให้ลึกซึ้ง นั่นน่าจะเป็นแผนที่เดินทางไปสู่การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยการมีสติ เข้าถึงซึ่งการรับรู้ความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่ง รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บด้วย จึงทำให้เกิดการรักษาโรคได้ด้วยพลังของสมาธิ
ลองมาพิจารณาสรรพวิธีสำหรับการสร้างพลังสมาธิกัน
ก่อนอื่นว่าด้วยวิธีอานาปานสติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ามี 16 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก หายใจเข้ายาวก็กำหนดรู้ หายใจออกยาวก็กำหนดรู้
ขั้นตอนที่สอง หายใจเข้าสั้นก็กำหนดรู้ หายใจออกสั้นก็กำหนดรู้
ขั้นตอนที่สาม ถึงแม้ลมหายใจจะสั้นและแผ่วก็กำหนดรู้ได้ว่ามั่นเริ่มตรงไหน เข้าไปและสิ้นสุดตรงไหน ออกจากไหนไปสิ้นสุดตรงไหน
ขั้นตอนที่สี่ ลมหายใจเมื่อฝึกไปจะแผ่วลงๆ แล้ววูบไป เรียกว่าจิตตกภวังค์ ตรงนี้แหละถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าพอสมควร ก็จะเข้าอัปปนาสมาธิ จนก้าวสู่ขั้นที่ไม่ยึดติดในตัวตน
         อย่างไรก็ดี พลังสมาธิจะได้มาไม่ใช่ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อนตั้งแต่ยังสุขภาพแข็งแรง ครั้นรอให้เจ็บป่วยแล้วค่อยมาฝึกสมาธิ นั่นนับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะยามที่คนเราเจ็บป่วย ย่อมต้องมีความเจ็บปวดไม่สบาย ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เวทนาเหล่านี้เป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้เกิดสมาธิ จึงต้องอาศัยวิธีอื่นๆ ต่อไป ดังนี้คือ

        วิธีที่หนึ่ง ใช้คำว่า “โอม” คำนี้มาจากคำว่า “อุ” “อะ” “มะ” กล่าวคือ “อุ” ได้แก่ อุตตมธรรม คือธรรมะของพระพุทธเจ้า “อะ” คืออรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า “มะ” คือมหาสังฆะ คือพระสงฆ์ ให้ใช้วิธีหายใจยาวให้ท้องพองเต็มที่ แล้วเปล่งเสียง “โอม” ขณะที่เปล่งเสียงใช้จิตกำหนดที่ระหว่างคิ้ว ถ้าทำไปแล้วจะเห็นรังสีหรือออร่าของตัวเอง เป็นการตรวจสอบออร่าของตัวเองด้วย ถ้าเห็นสีม่วง สีคราม สีน้ำเงินแก่ สีเขียว ส้ม แดง ก็แสดงว่าสุขภาพไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเห็นเป็นสีเทา ก็แสดงได้ว่าตนกำลังเจ็บป่วยอยู่ หรือเป็นโรคอยู่แต่กำลังจะหาย แต่ถ้าเห็นเป็นสีดำแสดงว่าท่านอาจกำลังจะมีภัย หรือเจ้าตัวมีโรคทางใจ มีราคะ โทสะ โมหะ ก็จะมีสีดำเช่นกัน
        วิธีใช้เสียงโอม ให้เริ่มจากการใช้เสียงสูงก่อน ร้องให้ยาวที่สุด ตามด้วยเสียงโอมที่ต่ำลงทีละน้อย ต่ำลงๆ จนไม่อาจจะเปล่งได้ เสียงสั่นสะเทือนที่ถูกเปล่งจากสูงมาหาต่ำ จะสร้างช่วยกระตุ้นจักระต่างๆ ในตัว มีผลในการรักษาโรคภัยเจ็บ
        วิธีที่สอง เป็นวิธีของหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี ให้ใช้สวดบทอิติปิโสว่าให้ได้ 9 จบชั่วอึดใจหนึ่ง คือใช้บทพุทธคุณบทเดียว คิดดูก็แล้วกันว่าใครที่ตามที่สามารถว่าถึง 9 จบภายในลมหายใจเดียว ย่อมทั้งท่องบทสวดนั้นได้คล่องมาก และต้องมีลมหายใจยาวมากด้วย เวลาสวดก็ใช้เสียงสูงกลางต่ำให้เพลินไป เวลาหัดแรกๆ ก็อาจไม่ถึง 9 จบ ก็ไม่เป็นไร นานๆ ก็ได้เอง
        วิธีที่สาม เป็นวิธีแบบโยคะ หรือปราณยาม คือ :
- หายใจเข้ายาวๆ นับในใจ 5
- จากนั้นอดกลั้นลมหายใจยาวเป็นสองเท่าของลมหายใจเข้า นับในใจ 10
- แล้วหายใจออกนับในใจ 5
- จากนั้นปล่อยให้ว่าง นับในใจอีก 5
          เริ่มหัดจาก 5, 10, 5, 5 แล้วเพิ่มเป็น 6, 12, 6, 6 ต่อไปเพิ่มเป็น 7, 14, 7, 7 จนถึง 10, 20, 10, 10 ด้วยการฝึกเช่นนี้ลมหายใจจะยาวขึ้นๆ เกิดการฟอกล้างลมปราณ สารพิษจากตัวด้วย แถมยังเป็นบาทฐานในการฝึกอานาปานสติภาวนาอีกต่างหาก
          วิธีที่สี่ เป็นวิธีของ น.พ.แอนดรูว์ ไวล์ เขียนใน Spontaneous Healing กล่าวถึงการกระตุ้นร่างกายให้รักษาตัวเอง โดยสนใจเป็นพิเศษทำอย่างไรให้เราเข้าสมาธิได้ ได้ใช้นักศึกษาทดลองวิธีต่างๆ แล้วสรุปว่า “ถ้าใครอยากจะเข้าสมาธิหรือเข้าฌานได้ จะต้องฝึกลมหายใจให้ยาว คือ 1 นาทีหายใจได้ 6 ครั้ง” ฝึกจนกระทั่งในภาวะปกติก็เป็นแบบนี้ ถ้าใครฝึกได้อย่างนี้ เมื่อไหร่จะเข้าฌานก็จะเข้าฌานได้ง่าย ให้เกิดปีติ เกิดสุขขึ้นในระหว่างเข้าถึงอัปปนาสมาธิ หรือถ้าใครฝึกลมหายใจยาว แม้จะเข้าฌานยังไม่ได้ก็จะมีสุขภาพดี จะไม่มีโรคปวดหัว ไมเกรน นอนไม่หลับ ความดันสูง ความดันต่ำ หรือระบบย่อยอาหารทั้งหลาย
          วิธีที่ห้า เป็นวิธีที่โบราณจารย์ของไทยฝึกสอนกันมา คือให้ดำน้ำทำตะกรุด จะมีรูปแบบของตะกรุดแล้วแต่อาจารย์ท่านไหน จะแนะให้ลูกศิษย์เขียนตะกรุด โดยใช้ทีแรกเป็นแผ่นทองเหลือง ต่อมาให้สูงขึ้นเป็นเงิน เป็นนาก และเป็นทองคำ เมื่อเริ่มเขียนจรดเหล็กจานลง ก็ให้เขียนให้เสร็จแล้วก็ม้วนมาให้อาจารย์ดู อาจารย์เพียงแต่ดูก็จะรู้ว่าลูกศิษย์มีสมาธิขนาดไหน
          พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า คนตาย คนเข้าสมาธิ คนดำน้ำ และคนอยู่ในท้องแม่ อยู่ในสภาวะที่ไม่หายใจ แต่การจะทำได้ ไม่ใช่จู่ๆ ก็ทำได้ โดยพยายามอดลมหายใจเอง ถ้าร่างกายไม่พร้อม การอดกลั้นลักษณะนั้นก็เป็นการทรมานตัวเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นด้วย แต่ถ้าฝึกลมหายใจไปแต่ละขั้นตอน สุดท้ายก็ฝึกนั้นจะทำให้เรามีอินทรีย์แก่กล้า สามารถทำได้เอง เพราะมีความพร้อมที่เข้าสมาธิ จิตจะตกวูบเข้าสู่ฌานจิต
          วิธีที่หก คือการสวดมนต์ เป็นวิธีสำคัญมากที่คนไทยเรามีมาแต่โบราณ แท้จริงการสวดมนต์ให้ถูกต้องจะได้บุญถึง 10 ประการ การสวดให้ดีต้องสวดให้ออกเสียง ไม่ใช่สวดอ้อมแอ้ม สวดให้ดีต้องออกเสียง ยิ่งดังยิ่งดี เป็นพลัง vibration เป็นการสั่นสะเทือนแบบขัดเกลา การสวดมนต์จะช่วยให้ได้ประโยชน์ทั้งสามประการ โดยเฉพาะสวดไปๆ จะเกิดการขัดเกลา เกิดการน้อมรับ ซึมซับ ธรรมะซึมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว มีตัวอย่างมากมายสวดไปแล้ว เกิดผุดรู้ ผุดเห็น สามารถบรรลุตามพลังบารมีที่ตัวได้บำเพ็ญมา เกิดการปฏิบัติตามมรรคแปดโดยไม่รู้ตัว
         เหล่านี้ท่านประมวลมาเป็นวิธีลัดไปสู่ฌานจิต ซึ่งเป็นจุดที่กายและจิตสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว และเกิดการบำบัดรักษาตนเองของ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก tumtarn.igetweb.com


พระพุทธศาสนสุภาษิต:หมวดบุคคล


หมวดบุคคล
๑. คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก.
นตฺถิ   โลเก  อนินฺทิโต. 


๒. ผู้มีความรู้ในทางที่ชั่ว เป็นผู้เสื่อม.
ทุวิชาโน   ปราภโว. 


๓. ผู้มีความรู้ในทางที่ดี เป็นผู้เจริญ.
สุวิชาโน  ภวํ   โหติ. 


๔. พวกโจร เป็นเสนียดของโลก.
โจรา   โลกสฺมิมพฺพุทา. 


๕. ผู้เกลียดธรรม เป็นผู้เสื่อม.
ธมฺมเทสฺสี   ปราภโว. 


๖. ผู้เครพผู้อื่น ย่อมมีผู้เคารพตนเอง.
ครุ  โหติ   สคารโว. 


๗. ควรทำแต่ความเจริญ อย่าเบียดเบียนผู้อื่น.
ผาตึ  กยิรา   อวิเหฐยํ  ปรํ. 


๘. คนย่อมเป็นที่เกลียดชังเพราะขอมาก.
เทสฺโส  จ   โหติ  อติยาจนาย. 


๙. คนเมื่อโกรธแล้ว  มักพูดมาก.
ทุฏฺโฐปิ   พหุ  ภาสยิ. 


๑๐. คนเมื่อรักแล้ว  มักพูดมาก.
พหุมฺปิ   รตฺโต  ภาเสยฺย. 


๑๑. วิญญูชนตำหนิ ดีกว่าคนพาลสรรเสริญ.
ครหาว  เสยฺโย   วิญฺญูหิ  ยญฺเจ   พาลปฺปสํสนา. 


๑๒. ความคุ้นเคย   เป็นญาติอย่างยิ่ง.
วิสฺสาสปรมา   ญาตี. 


๑๓. คำสัตย์แล   เป็นวาจาไม่ตาย.
สจฺจํ  เว   อมตา  วาจา 


๑๔. บรรพชิตผู้ไม่สำรวม ไม่ดี.
อสญฺญโต   ปพฺพชิโต  น  สาธุ.  


๑๕. สัตบุรุษ ไม่มีในชุมนุมใด ชุมนุมนั้นไม่ชื่อว่าสภา.
เนสา  สภา   ยตฺถ  น  สนฺติ  สนฺโต. 


๑๖. สัตบุรุษ ไม่ปราศรัยเพราะอยากได้กาม.
น  กามกามา   ลปยนฺติ  สนฺโต. 


๑๗. ผู้ฟังมาก ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ.
ปฏิสงฺขานพลา   พหุสฺสุตา. 


๑๘. มีบางคนในโลกท่ยับยั้งการกระทำด้วยความละอาย.
หิรินิเสโธ   ปุริโส  โกจิ  โลกสฺมิ   วิชฺชติ. 


๑๙. คนจะประเสริฐ ก็เพราะการกระทำ
และความประพฤติ.
กมฺมุนา   โหติ  พฺราหฺมโณ. 


๒๐. อ่อนไป ก็ถูกเขาหมิ่น
แข็งไป ก็มีภัยเวร.
ปริภูโต   มุทุ  โหติ  อติติกฺโข  จ   เวรวา. 


๒๑. คนได้เกียรติ (ชื่อเสียง) เพราะความสัตย์.
สจฺเจน  กิตฺตึ   ปปฺโปติ. 


๒๒. สมณะในศาสนานี้ ไม่เป็นข้าศึกในโลก.
สมณีธ  อรณา   โลเก. 


๒๓. ผู้ขอย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ถูกขอ.
ยาจโก   อปฺปิโย  โหติ. 


๒๔. บุตรเป็นที่ตั้งของมนุษย์ทั้งหลาย.
ปุตฺตา   วตฺถุ  มนุสฺสานํ. 


๒๕. บัณฑิตมีความไม่เพ่งโทษของผู้อื่นเป็นกำลัง.
นิชฺฌตฺติพลา   ปณฺฑิตา. 


๒๖. คนมีปัญญาทราม ย่อมพร่าประโยชน์เสีย.
หาเปติ  อตฺถํ   ทุมฺเมโธ. 


๒๗. ไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา.
น  ตํ   ยาเจ  ยสฺส  ปิยํ  ชิคึเส. 


๒๘. คนผู้มีสติ มีความเจริญทุกเมื่อ.
สติมโต  สทา   ภทฺทํ. 


๒๙. คนซื่อตรง ไม่พูดคลาดความจริง.
น  อุชุภูตา   วิตถํ  ภณนฺติ. 


๓๐. ผู้มีปัญญาย่อมไม่ขอเลย.
น  เว   ยาจนฺติ  สปฺปญฺญา. 


๓๑. คนมีสติ ย่อมได้รับความสุข.
สติมา   สุขเมธติ. 


๓๒. สามี เป็นเครื่องปรารถนาของสตี.
ภตฺตา   ปญฺญาณมิตฺถิยา. 


๓๓. ผู้ไหว้ ย่อมได้รับการไหว้ตอบ.
วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ. 


๓๔. ผู้ทำสักการะ   ย่อมได้รับการสักการะ.
สกฺกตฺวา   สกฺกโต  โหติ. 


๓๕. ไม่ควรดูหมิ่นลาภของตน.
สลาภํ   นาติมญฺเญยฺย. 


๓๖. คนมีสติ เป็นผู้ประเสริฐทุกวัน.
สติมโต  สุเว   เสยฺโย. 


๓๗. คนอ่อนแอ   ก็ถูกเขาดูหมิ่น.
ปริภูโต  มุทุ   โหติ. 


๓๘. มีญาติมาก ๆ ยังประโยชน์ให้สำเร็จ.
สาธุ  สมฺพหุลา   ญาตี. 


๓๙. สตรีเป็นสูงสุดแห่งสิ่งของทั้งหลาย.
อิตฺถี   ภณฺฑานมุตฺตยํ. 


๔๐. ได้สิ่งใด พึงพอใจในสิ่งนั้น.
ยํ  ลทฺธํ   เตน  ตุฏฺฐพฺพํ. 


๔๑. บรรดาภริยาทั้งหลาย 
ภริยาผู้เชื่อฟังเป็นผู้ประเสริฐ.
สุสฺสูสา   เสฏฺฐา  ภริยานํ. 


๔๒. ปราชญ์ มีกำลังบริหารให้ประโยชน์สำเร็จได้.
ธีโร  จ   พลวา  สาธุ  ยูถสฺส   ปริหารโก. 


๔๓. ความสันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำสุขมาให้.
ตุฏฺฐี  สุขา  ยา   อิตรีตเรน. 


๔๔. คนมีปัญญาทราม ย่อมแนะนำในทางที่ไม่ควรแนะนำ.
อนยํ  นยติ   ทุมฺเมโธ. 


๔๕. พูดอย่างใด   พึงทำอย่างนั้น.
ยถาวาที   ตถาการี. 


๔๖. ผู้สงบระงับ   ย่อมอยู่เป็นสุข.
อุปสนฺโต  สุขํ   เสติ. 


๔๗. มารดาบิดา   ท่านว่าเป็นพรหมของบุตร.
พฺรหมฺาติ   มาตาปิตโร. 


๔๘. คนฉลาดย่อมละบาป.
กุสโล  จ   ชหาติ  ปาปกํ. 


๔๙. พึงประพฤติให้พอเหมาะพอดี.
อนุมชฺฌํ   สมาจเร.